ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอินโดนีเซีย


ปัจจุบันแม้เครือข่ายอินเตอร์เนตจะแพร่ขยายได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองก็ยังคงต้องจ่ายเงินค่าบริการอินเตอร์เนตความเร็วสูงในราคาแพงมาก

รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามจัดให้มีเครือข่ายอินเตอร์เนตความเร็วสูงซึ่งราคาไม่แพงเกินไปมาบริการแก่ประชาชน ด้วยวิธีการเพิ่มการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการอินเตอร์เนตมากขึ้น

นาย Muhammad Nuh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารอินโดนีเซียคนใหม่ กล่าวว่าค่าบริการอินเตอร์เนตในอินโดนีเซียนั้นสูงเกินไป และบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นความผิดของบริษัทผู้ให้บริการที่ต้องการผลกำไรจำนวนมาก รวมทั้งอินโดนีเซียเองก็ค่อนข้างขาดแคลนช่องทางเชื่อมต่อกับโลกภายนอกผ่านทางคอมพิวเตอร์ด้วย

เวลานี้ในอินโดนีเซียมีบริษัทโทรคมนาคมอยู่เพียง 2 บริษัทที่เป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่อประเทศซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกกับประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้ตลาดอินเตอร์เนตไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักลงทุนเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรี Muhammad Nuh บอกว่ารัฐบาลมีนโยบายจะเพิ่มเครือข่ายการเชื่อมต่อใหม่ๆกับออสเตรเลีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ และจะพยายามกระตุ้นให้บริษัทต่างๆเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจนี้มากขึ้น

รัฐมนตรี Muhammad Nuh บอกว่า รัฐบาลอินโดนีเซียจะใช้นโยบาย 2 แบบ หนึ่งคือเชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และสองคือให้การสนับสนุนบริษัทโทรคมนาคมในประเทศ

ปีหน้ากระทรวงการสื่อสารอินโดนีเซียจะติดตั้งเครือข่ายใยแก้วนำแสงความยาว 1 หมื่นกิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมโยงระหว่างเกาะสำคัญๆหลายเกาะในอินโดนีเซีย รวมทั้งกำลังพยายามกระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจเข้าไปมีส่วนร่วมลงทุนในเครือข่ายใยแก้วนำแสงดังกล่าว เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ InternetWorldStats.com นั้น ปัจจุบันมีชาวอินโดนีเซียใช้บริการอินเตอร์เนตราว 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 9% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งยังคงน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ใช้อินเตอร์เนต 16% ในฟิลิปปินส์และ 48% ในมาเลเซีย ในขณะเดียวกันชาวอินโดนีเซียในพื้นที่ชนบทห่างไกลจำนวนมากยังคงขาดแคลนช่องทางการสื่อสารขั้นพื้นฐาน เช่นหมู่บ้านต่างๆราว 38,000 แห่งยังไม่มีแม้แต่สายโทรศัพท์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารคนใหม่รับปากว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขเช่นกัน โดยภายในปีหน้าจะมีการติดตั้งสายโทรศัพท์ที่พร้อมสำหรับการให้บริการอินเตอร์เนตในอนาคตไว้ตามพื้นที่ส่วนกลางของแต่ละหมู่บ้าน เรียกว่าจุดเชื่อมต่ออินเตอร์เนตชุมชน หรือ CAP

ดูเหมือนการขาดการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการอินเตอร์เนตจะไม่ใช่อุปสรรคเพียงประการเดียวที่สกัดกั้นการเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคมอินโดนีเซีย เมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมการกำกับดูแลการแข่งขันทางธุรกิจของอินโดนีเซียเพิ่งจะเปิดโปงหลักฐานที่บ่งชี้ว่า บริษัทให้บริการโทรศัพท์มือถือ 2 บริษัทอาจสมรู้ร่วมคิดเพื่อกีดกันไม่ให้บริษัทอื่นเข้ามาแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือ แต่รัฐมนตรี Muhammad Nuh กล่าวว่าไม่ขอออกความเห็นในเรื่องนี้

XS
SM
MD
LG