ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษาวิจัยเรื่องการเป็นโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินขนาด


ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1970 หรือราว 30 ปีมาแล้ว คนที่น้ำหนักตัวเกินขนาด หรือเป็นโรคอ้วนมีจำนวนมากขึ้นอย่างพรวดพราด องค์การอนามัยโลกประมาณว่าขณะนี้มีคนน้ำหนักตัวเกินขนาดประมาณ 1,000 ล้านคน และเป็นโรคอ้วนราว 300 ล้านคน

ผู้เชี่ยวชาญระบุไว้ว่า โรคอ้วนนั้นคือการที่มีน้ำหนักตัวเกินขนาดปกติราว 30% ซึ่งเป็นสภาพที่ทำให้คนเป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงสูงต่อการที่จะเกิดอาการหัวใจกำเริบ เส้นโลหิตอุดตัน และโรคเบาหวาน

น้ำหนักตัวมาตรฐานนั้น ลองคำนวณดูได้จากส่วนสูงเป็นเซนติเมตร ลบ 100 สำหรับผู้ชาย และลบ 110 สำหรับผู้หญิง นักวิจัยด้านการแพทย์ทราบว่าโรคอ้วนเป็นกรรมพันธุ์หรือเกี่ยวเนื่องกับ gene หรือเชื้อพันธุ์ แต่ผลการศึกษาวิจัยต่างๆ บ่งชี้ว่าโรคนี้มีปัจจัยอื่นเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วย

นักวิจัยพบว่าแวดวงเครือข่ายทางสังคม มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแบบของร่างกายคนเรา ขณะทราเชื้อพันธุ์อาจเป็นสิ่งอธิบายเกี่ยวกับโรคอ้วนได้ แต่ไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับสภาพการณ์ที่เรียกว่าการแพร่ระบาดของโรคอ้วนได้

Matthew Gilman ผู้อำนวยการโครงการป้องกันโรคอ้วนที่มหาวิทยาลัย Harvard เมือง Cambridge รัฐ Massachusetts กล่าวว่า gene หรือเชื้อพันธุ์ไม่เปลี่ยนแปลงในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา แต่สภาพแวดล้อมของคนเราเปลี่ยน และว่าผลการศึกษานี้เพิ่มมุมมองใหม่ในด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งนั่นก็คือขอบข่ายแวดวงทางสังคม

นักสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัย Harvard และที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต San Diego ศึกษาเครือข่ายทางสังคมที่มีความซับซ้อนของคนมากกว่า 12,000 คนในช่วงปี 2514-2546 ซึ่งเป็นเวลา 32 ปี หลังจากการศึกษาวิจัยอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับความสัมพันธ์เป็นรายคน ซึ่งรวมทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง ครอบครัวและเพื่อนบ้าน นักวิจัยพบว่าโอกาสที่คนจะเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 40% หากคนๆ นั้นมีพี่น้องที่เป็นโรคอ้วน และเพิ่มขึ้น 37% หากคนๆ นั้นมีคู่ครองที่เป็นโรคอ้วน และที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนในบรรดาเพื่อนๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องสนิทชิดเชื้อกัน

ผลการศึกษานี้แสดงว่า หากมิตรภาพนั้นเป็นเพียงคนรู้จักกันธรรมดาๆ คนๆ นั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 57% หากเพื่ออนผู้นั้นเป็นโรคอ้วน และหากความสัมพันธ์นั้นเป็นความสัมพันธ์แบบสนิทชิดเชื้อ และต่างฝ่ายต่างบอกว่าเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว หากคนหนึ่งเป็นโรคอ้วน อีกคนหนึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนด้วยเพิ่มขึ้นราว 170%

James Fowler นักสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้ร่วมเสนอรายงานเรื่องนี้กล่าวว่า นักวิจัยรู้สึกพิศวงงงงวยที่พบว่า คนที่อยู่ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร ก็มีผลกระทบต่อสถานภาพด้านน้ำหนักตัวของคนอีกคนหนึ่ง เช่นเดียวกับเพื่อนที่อยู่บ้านหลังถัดไป ฉนั้นสิ่งที่ผลการวิจัยนี้บ่งชี้ก็คือ ไม่ใช่เฉพาะความสัมพันธ์ฉันท์คนรู้จักกัน ออกไปไหนมาไหนด้วยกัน รับประทานอาหารด้วยกัน ออกกำลังกายด้วยกันเท่านั้น ที่จะมีผลต่อการเป็นโรคอ้วน แต่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านสุขภาพก็มีส่วนด้วย

นักวิจัยเห็นว่าการค้นพบนี้ มีสิ่งบ่งชี้เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพ Nicholas Christakis แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ผู้ร่วมเสนอรายงานอีกผู้หนึ่งกล่าวว่า นักวิจัยคิดว่าผลการศึกษานี้ ชี้แนะว่าการบำบัดคนเป็นกลุ่มๆ อาจมีประสิทธิภาพกว่าการบำบัดเป็นรายบุคคล ดังนั้นการจำกัดอาหารโดยการทำกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะ หรือการพยายามเข้าร่วมในการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำกันเป็นกลุ่มอาจได้ผลกว่าการพยายามทำคนเดียว

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่ มีงานวิจัยที่ส่อแสดงว่ากลุ่มคนมีการติดต่อกันได้ด้วยโรคที่ไม่ใช่โรคติดต่อ และมีการคาดทำนายกันว่า การศึกษาวิจัยนี้อาจนำไปสู่การแพทย์อีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า Network Medicine

XS
SM
MD
LG