ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ดื่มน้ำอัดลม เกี่ยวโยงกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ อย่างไร?


รายงานการวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา ระบุว่าการดื่มน้ำอัดลมเกี่ยวโยงกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น แต่ความเกี่ยวโยงที่ว่านี้ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่มาก

รายงานการวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Circulation ฉบับล่าสุด กล่าวว่า ผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมวันละขวด หรือมากกว่านั้น มีโอกาสจะเป็นโรคอ้วนเกินขนาดเพิ่มขึ้น 31% โอกาสที่รอบเอวจะมีลักษณะเหมือนยางในรถยนต์มากขึ้น 30% ความเสี่ยงที่น้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นราวๆ 25% และ โอกาสที่ HDL หรือ cholesterol ที่ดีจะลดลง มีมากขึ้น 32%

อาการทั้งหมดเหล่านี้ ทางการแพทย์เรียกว่า Metabolic Syndrome หรืออาการที่เกี่ยวกับการเผาผลาญของร่างกาย

นักวิจัยบอกว่า ที่ทำให้ประหลาดใจก็คือ ไม่ปรากฏว่ามีความแตกต่างระหว่างน้ำอัดลมที่มีแคโลรี่กับที่ไม่มีแคโลรี่ หรือ diet โซดา

แต่ที่นายแพทย์ Ramachandran Vasan สมาชิกทีมงานวิจัยชุดนี้ ต้องการเน้นย้ำให้เป็นที่เข้าใจ ก็คือ ผลการวิจัยไม่ได้แสดงว่า การดื่มน้ำอัดลมเป็นสาเหตุของการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ เพียงแต่ชี้ว่า สองอย่างนี้มีความเกี่ยวโยงกันเท่านั้น แต่จะเกี่ยวโยงกันอย่างไรเป็นเรื่องที่จะต้องวิเคราะห์กันต่อไป และก็มีแพทย์และนักโภชนาการหลายรายที่ได้แสดงความคิดเห็นกันออกมา

นายแพทย์ Dean Ornish ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต San Francisco และผู้เขียนหนังสือเรื่องการลดน้ำหนักตัว ให้ความเห็นว่า ความเกี่ยวโยงที่ว่านี้ น่าจะหมายความได้ว่า คนที่ชอบดื่มน้ำอัดลมนั้น อาจเป็นผู้ที่มีลักษณะการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกสุขภาพอนามัย เช่น รับประทานอาหารที่ไม่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย และไม่ออกกำลังบริหารร่างกาย

ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ บอกว่า น้ำอัดลม ไม่ว่าจะ diet หรือไม่ diet มีรสชาติหวานมาก และทำให้ผู้ดื่ม ไม่ชอบผลไม้ หรือผักสด เพราะน้ำอัดลมกระตุ้นให้ชอบรับประทานของที่มีรสจัด สถิติที่มีชี้ให้เห็นเลยว่าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นแหล่งที่มาของแคโลรี่อันดับหนึ่งในอเมริกา เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารอื่นๆ

และแม้นักวิจัยจะเตือนว่า ความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับผลของการวิจัยนี้ ยังเป็นเพียงแค่ทฤษฎีเท่านั้น นักโภชนาการอย่างคุณ Connie Diekman ซึ่งเป็นนายกสมาคมโภชนาการแห่งอเมริกา บอกว่า งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นหลักฐานอีกอันหนึ่งที่เสริมแนวความคิดที่เธอพยายามสื่อสารให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบว่า การรับประทานอาหารที่ถูกสุขภาพอนามัย หมายถึงการเลือกชนิดของอาหารที่ถูกต้อง ไม่ใช่หลีกเลี่ยงหรือกล่าวโทษอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง

XS
SM
MD
LG