ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สังคมที่เปลี่ยนไป หลังเกาะฮ่องกงกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ครบ 10 ปี


วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคมเป็นวันครบรอบ 10 ปีที่เกาะฮ่องกงกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงถูกจีนปกครองแบบหนึ่งประเทศ สองระบบ ซึ่งเป็นแบบแผนการปกครองที่จีนสร้างขึ้นมาเพื่อให้ฮ่องกงมีสิทธิในการปกครองตนเองในระดับสูง

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมปี ค.ศ.1997 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงหรือที่เรียกกันว่าไข่มุกแห่งตะวันออกให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากนั้นระบบสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนวิถีชีวิตของชาวฮ่องกงก็เปลี่ยนไป ทั้งประเด็นด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และแรงงานอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางสังคมที่รัฐบาลฮ่องกงต้องเผชิญ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Chung Kim wah แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงให้ความเห็นว่า ประชาชนระดับล่างสุดของสังคมฮ่องกงยังไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Chung Kim wah บอกว่าเมื่อปี ค.ศ.1997 ที่มีการส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีน เวลานั้นฮ่องกงมีประชากรวัยแรงงานกว่า 3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ 3 แสนคนที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 5 พันล้านเหรียญฮ่องกง แต่เมื่อดูสถิติเมื่อปีที่แล้วจะเห็นว่า คนฮ่องกงที่มีรายได้ต่ำกว่า 5 พันล้านเหรียญฮ่องกงมีจำนวนมากกว่า 5 แสนคน ในขณะเดียวกันความแตกต่างทางด้านรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยยิ่งมีมากขึ้น โดยพิจารณาได้จากครอบครัวชาวฮ่องกงที่มีรายได้สูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางมีจำนวนลดลงเกือบ 10% นอกจากนี้วิกฤติการณ์ด้านการเงินในเอเชียซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการส่งคืนฮ่องกงไม่นาน ก็ยิ่งทำให้ความแตกต่างทางรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยในฮ่องกงเพิ่มมากขึ้นด้วย

คุณ Fung Kai yuen จนท.สมาคมสหภาพการค้าฮ่องกงซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของแรงงานชาวฮ่องกงกล่าวว่า ในหมู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำนั้น มีผู้คนจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยในฮ่องกงรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการดูแลทางการแพทย์ให้แก่ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วก็เป็นปัญหาสำคัญ คุณ Fung Kai yuen ระบุว่าผู้สูงอายุในฮ่องกงหลายคนยังต้องทำงานแม้วัยจะล่วงเลยเกิน 65 ปีแล้วก็ตาม

คุณ Fung Kai yuen บอกว่าประเด็นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าระบบประกันสุขภาพผู้สูงอายุของฮ่องกงนั้นแย่มาก และว่าขณะนี้รัฐบาลฮ่องกงกำลังสนับสนุนโครงการทุนสำรองเพื่ออนาคต Mandatory Provident Fund หรือ MPF แต่ดู เหมือนโครงการดังกล่าวจะให้เงินชดเชยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังจากเกษียณอายุการทำงานไปแล้ว 4-5 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้สมาคมสหภาพการค้าฮ่องกงกำหนดข้อเสนอเพื่อช่วยปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของแรงงานขึ้น หลักสำคัญของข้อเสนอนี้ก็คือ การผ่านกฎหมายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การกำหนดกฎข้อบังคับให้แรงงานทำงานเพียงสัปดาห์ละ 44 ชั่วโมง ตลอดจนการปรับปรุงระบบความปลอดภัยและมาตรการคุ้มครองผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน

หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเมื่อปีที่แล้ว ฮ่องกงมีงบเกินดุลถึง 55,000 ล้านเหรียญฮ่องกง หลายคนคิดว่าถึงเวลาแล้วนะครับที่รัฐบาลฮ่องกงต้องหันมาใส่ใจกับการแก้ปัญหาสังคมบ้างครับ

XS
SM
MD
LG