ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อม


รายงานจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้นส์ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ประเมินว่าภายในปี พ.ศ. 2593 จะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมทั่วโลกราว 106 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 4 เท่า ในจำนวนนี้มีผู้ป่วย 43% ที่ต้องการการดูแลทางการแพทย์เป็นพิเศษ รายงานชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า เวลานี้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกเกือบครึ่งหนึ่งเป็นชาวเอเชีย และภายในอีก 43 ปีข้างหน้า ทวีปเอเชียจะมีคนป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียบอกว่าสมองของมนุษย์นั้นจะเริ่มแสดงอาการว่าแก่ตั้งแต่อายุเราเพิ่งจะย่างเข้า 20 นักวิจัยประเมินว่าระบบที่ใช้ควบคุมความสามารถในการจดจำและสุขภาพสมองในระยะยาวทั้งหมดนั้น มีเพียง 1 ใน 3 ที่ถูกกำหนดมาแล้วด้วยกลไกทางพันธุกรรม และนักวิจัยยังบอกอีกว่า จริงๆแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของสมองคนเรานั้น สามารถควบคุมได้ด้วยตัวเราเอง เช่น ลักษณะการใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพร่างกายจิตใจ

ปัจจุบัน จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ชาวอเมริกันมากมายพยายามหันมาใช้บริการโรงยิมสมองเพื่อออกกำลังบริหารสมองมากขึ้น ด้วยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บริหารความคิดและจิตใจเช่นเดียวกับการบริหารกล้ามเนื้อ ดร. Gary Small จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแองเจิลลีส บอกว่าหากมีการเรียนรู้วีธีการจดจำอย่างจำเพาะเจาะจง ก็จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ ไม่เพียงแต่ในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้นแต่อาจส่งผลยาวนานถึง 4 หรือ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคคนแก่บางคนบอกว่า การเข้าโรงยิมสมองหรือใช้อุปกรณ์ช่วยบริหารจิตใจนั้นอาจจะไม่จำเป็นแต่อย่างใด ดร. David Lowenstein จากมหาวิทยาลัยการแพทย์รัฐไมอามี่บอกว่า ยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่าโรงยิมสมองหรืออุปกรณ์ต่างๆจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการเล่นเกมเรียงอักษรหรือปริศนาอักษรไขว้

ถึงกระนั้นก็ดี ผู้คนมากมายยังคงพากันสมัครเป็นสมาชิกโรงยิมบริหารสมอง เหตุผลก็คือความกลัวนั่นเอง เช่นเดียวกับคุณ Nancy Levitt สตรีอเมริกันซึ่งเห็นสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ เธอยอมรับว่าเธอกลัวเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียอีก

ดร. David Lowenstein บอกว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมสามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆที่เป็นการช่วยจดจำได้ เช่น เรียนรู้ชื่อสิ่งของที่พบเห็นทั่วไปซ้ำๆ เป็นต้น วิธีนี้อาจไม่ได้ช่วยให้โรคนี้หายขาด แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถจดจำสิ่งต่างๆได้นานขึ้น

XS
SM
MD
LG