ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช วีโต้ร่างกม.ที่มีเงื่อนไขเวลาการถอนทหารออกจากอิรัก


ประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช เพิ่งจะวีโต้ร่างกฎหมายเรื่องการจัดสรรเงินทุนเพิ่มสำหรับการทำสงครามในอิรัคและแอฟกานิสถานที่รัฐสภาสหรัฐลงมติเห็นชอบและส่งไปให้ประธานาธิบดีลงนาม ผู้นำสหรัฐให้เหตุผลว่าที่ไม่ยอมลงนามให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เพราะมีเงื่อนไขที่กำหนดเวลาให้ฝ่ายบริหารเริ่มถอนทหารอเมริกันออกจากอิรัคในปีนี้

ฝ่ายพรรคเดโมแครทยอมรับว่า ไม่มีเสียงพอในสภาที่จะบังคับให้นำกฎหมายนี้มาใช้ แม้ประธานาธิบดีจะวีโต้แล้วก็ตาม คะแนนเสียงที่จะทำเช่นนั้นได้ต้องเท่ากับสองในสามขึ้นไป เพราะฉะนั้นก้าวต่อไปในขณะนี้ คือทั้งสองฝ่ายจะต้องหันมาเจรจาเพื่อหาจุดร่วมที่จะทำความตกลงกันได้ในเรื่องนี้

นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า แม้จะรู้ว่าประธานาธิบดีบุชจะวีโต้ร่างกม.ที่มีเงื่อนไขเวลาการถอนทหาร แต่พรรคเดโมแครทจำเป็นต้องยืนยันเงื่อนไขดังกล่าวเพราะนอกจากสมาชิกพรรคจะมีความรู้สึกต่อต้านสงครามในอิรัคอย่างแรงกล้าแล้ว ยังเชื่อกันด้วยว่า การที่พรรคเดโมแครทกลับเข้ามามีเสียงข้างมากในสภาทั้งสองได้หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกา ยนปีที่แล้ว ก็เพราะประชาชนเบื่อหน่ายกับสงครามดังกล่าว

Tom DeFrank หัวหน้าสำนักข่าวของนสพ. นิวยอร์ค เดลินิวส์ ประจำกรุงวอชิงตันบอกว่า ด้วยเหตุนั้น พรรคเดโมแครทจึงต้องยืนยันจุดยืนดังกล่าวเพื่อสนองความต้องการของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกพวกตนเข้ามา

ในขณะเดียวกัน บรรดาสมาชิกพรรคเดโมแครทเองก็มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะทำอะไรต่อไปได้ในอิรัค สมาชิกรุ่นเก่าไม่อยากเปิดโอกาสให้พวกรีพับลิกันกล่าวหาเดโมแครทได้อีกว่า อ่อนแอในเรื่องความมั่นคงของชาติ จึงไม่อยากให้ถอนทหารออกจากอิรัค เพราะเกรงว่า ถ้าถอนทหารออกมา อิรัคจะเกิดความปั่นป่วน และพรรคเดโมแครทจะถูกประนามว่า เป็นผู้ที่ทำให้สูญเสียอิรัค

อาจารย์ Ross Baker นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Rutgers ในรัฐนิวเจอร์ซี่ย์ให้ความ เห็นว่า ในอีกด้านหนึ่ง พวกเดโมแครทก็ไม่อยากจะรีบร้อนถอนทหารออกจากอิรัค เพราะเกรงว่า จะเป็นเสมือนการทอดทิ้งคนไข้ไว้บนโต๊ะผ่าตัด โดยไม่เย็บปิดแผลให้เรียบร้อยเสีย ก่อน

อาจจะสรุปประเด็นได้ว่า ที่บรรดาสมาชิกพรรคเดโมแครทอยากจะเห็น คือการเปลี่ยนแนว ทางในอิรัค โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การมีเสถียรภาพ และอยากให้เริ่มดำเนินการไปในทางที่จะเริ่มถอนทหารออกมาได้

ส่วนสมาชิกพรรครีพับลิกันนั้น แม้จะยังยืนหยัดสนับสนุนแนวนโยบายของประธานาธิบดีบุชอยู่ต่อไป ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ถ้าสถานการณ์ทางการทหารยังไม่ดีขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า การรวมตัวของสมาชิกพรรครีพับลิกันในเรื่องนี้ อาจเริ่มเปลี่ยนไปได้

บรรณาธิการบริหาร Jim Warren ของนสพ. Chicago Tribune ให้ข้อคิดส่งท้ายไว้ว่า การต่อสู้ระหว่างรัฐสภากับฝ่ายบริหารในเรื่องเงินทำสงครามในอิรัคครั้งนี้ ชี้แนะว่า ในช่วงปี กว่าๆที่ประธานาธิบดีบุชยังมีเหลืออยู่นี้ ทั้งสองฝ่ายคงจะทำงานไม่ได้ผลมากนัก เพราะในบรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกันเอง ก็มีหลายคนทีเดียวที่ไม่สนใจเรื่องการออกกม. เท่ากับพยายามหาทางที่จะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

ผลการสำรวจทัศนคติชาวพรรครีพับลิกันที่ตั้งใจจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า แสดงให้เห็นว่า 30% ไม่เห็นด้วยกับฝีมือการทำงานของประธานาธิบดีบุชในเรื่องอิรัค และอีก 41% ต้องการให้ประธานาธิบดีคนต่อไปดำเนินนโยบายเกี่ยวกับอิรัคที่แตกต่างจากปัจจุบัน การสำรวจดังกล่าวเป็นความร่วมมือของนสพ. Wall Street Journal และข่ายงานโทรทัศน์ NBC

XS
SM
MD
LG