ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นิตยสารสำหรับพ่อลูกยุคใหม่ ของประเทศญี่ปุ่น


ใครๆ ที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นตอนนี้ การเห็นคุณพ่อเล่นกับลูกๆ ตามสวนสาธารณะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ซึ่งผิดกับคุณพ่อรุ่นก่อนๆ เป็นขาวกับดำ คนรุ่นก่อนๆ ในญี่ปุ่นนั้นผู้เป็นบิดามักอุทิศตัวให้กับงาน มีเวลาอยู่บ้านน้อย และห่างเหินไม่ค่อยสุงสิงกับลูกๆ

แต่เมื่อราวสองปีที่ผ่านมา นิตยสารเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก มุ่งเป้าหมายที่คุณพ่อรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น โดยเสนอรายงานเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ข้อมูลด้านความปลอดภัย การศึกษา และการสื่อสารกับเด็กๆ

นิเคอิ พลัส เป็นนิตยสารฉบับแรกที่เสนอเรื่องสำหรับคุณพ่อรุ่นใหม่ออกวางขายตามแผงหนังสือ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2548 ตามด้วยเพรสซิเดนท์ แฟมิลี่ และโอเชี่ยนส์ ล่าสุดก็มี เอฟคิว ควอเตอรี่ ซึ่งย่อมาจากฟาร์เธอร์ส ควอเตอรี่ นิตยสารสำหรับคุณพ่อเหล่านี้เสนอเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้คุณพ่อวัยหนุ่มทั้งหลายมีคุณสมบัติของการเป็นคุณพ่อที่ดี

เมื่อเร็วๆ นี้ เอฟคิว ควอเตอรี่ นำภาพจอห์นนี่ เดปป์ ขึ้นปกและลงเรื่องราวประสบการณ์ของเขาในการเป็นคุณพ่อ พอออกวางตลาดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็ขายได้มากกว่า 5 หมื่นฉบับ บรรณาธิการของเอฟคิว ควอเตอรี่บอกว่า เขาออกนิตยสารฉบับนี้ก็เพื่อจะช่วยให้คุณพ่อทั้งหลายมีบทบาทแข็งขันยิ่งขึ้นในการเป็นผู้ปกครอง

โทโมฮิโร่ ชิมิสุ บรรณาธิการนิตยสารเอฟคิว ควอเตอรี่บอกว่า ที่สำคัญประการแรก คุณพ่อทั้งหลายไม่ควรละอายที่จะทุ่มเทให้เวลาอยู่กับลูกๆ แม้ว่าจะงานยุ่ง ก็ควรจะรู้สึกว่าครอบครัวมีความสำคัญกว่างาน เขากล่าวว่าบรรดาคุณพ่อในญี่ปุ่นมีบทบาทในการเลี้ยงลูกน้อยกว่าบรรดาพ่อๆ ในประเทศตะวันตกมาก และเห็นว่าพ่อๆในญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องตามให้ทันพ่อๆ ในยุโรป

โทโมฮิโร่ ชิมิสุ บรรณาธิการอายุ 39 ปีผู้นี้มีลูกชายวัย 3 ขวบ เขาบอกว่าอยากจะช่วยสร้างความสมดุลระหว่างการงานกับการเลี้ยงลูก แต่ผู้เป็นบิดาหลายต่อหลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก

ตามรายงานการสำรวจของสถาบันวิจัยเปรียบเทียบระหว่างประเทศเรื่องการศึกษาที่ว่านั้น โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้เป็นพ่อในญี่ปุ่นใช้เวลาในวันทำงานแต่ละวัน อยู่กับลูกๆ ราว 3 ชั่วโมง มีแต่คุณพ่อในเกาหลีใต้เท่านั้นที่ใช้เวลาในช่วงวันทำงานอยู่กับลูกน้อยกว่า ในขณะที่คุณพ่อในประเทศไทย ให้เวลากับลูกๆ เกือบวันละ 6 ชั่วโมง

การสำรวจนั้นพบด้วยว่า 40 เปอร์เซนต์ของคุณพ่อชาวญี่ปุ่น มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการมีเวลาอยู่กับลูกน้อย ผู้เป็นพ่อชาวญี่ปุ่นเมื่อก่อนนี้ใช้เวลาอยู่กับลูกน้อย เพราะถือว่างานมีความสำคัญมากกว่า ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ถึงต้น 1980 คนญี่ปุ่นจำนวนมากเชื่อว่า ความสำเร็จในการงานมีความสำคัญเป็นอันดับแรกของผู้ชาย

บรรณาธิการนิตยสารฟาร์เธอร์ส ควอเตอรี่ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเลิกความเชื่อตามธรรมเนียมเช่นนั้น และว่าหากผู้เป็นพ่อทั้งหลายไม่มีส่วนดูแลเลี้ยงลูก หรือให้เวลาแก่ครอบครัวให้มากขึ้น ปัญหาที่โรงเรียนอย่างการข่มขู่รังแก การใช้ความรุนแรง และการเรียนตกต่ำลง ก็จะยิ่งซ้ำร้ายลงไป

XS
SM
MD
LG