ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปัญหาขยะล้นที่กำลังคุกคามหลายเมืองในเอเชีย


เศรษฐกิจของเอเชียที่เติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นและเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมการบริโภคตามอย่างประเทศตะวันตกโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นก็คือขยะจำนวนมหาศาลตั้งแต่ถุงพลาสติกไปจนถึงเศษชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ

ประชากรแถบชนบทส่วนใหญ่ในเอเชียมักจะนำสินค้าที่ตนเองซื้อมานั้นหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่กลับกำลังเลียนแบบการบริโภคตามอย่างตะวันตกมากขึ้น รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ระบุว่า ประชากรชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในเมืองไม่เพียงจะจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้นเท่านั้น แต่ราว 80% ของสินค้าที่ซื้อมาจะถูกนำไปทิ้งหลังจากที่ถูกใช้เพียงครั้งเดียว ซึ่งทำให้ปริมาณขยะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ศาสตราจารย์ Chettiyappan Visvanathan แห่งสถาบันเทคโนโลยีอาเซียนหรือ AIT ที่จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย กล่าวว่า หากมองที่ปริมาณการบริโภคของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองสำคัญต่างๆในเอเชียแล้วจะพบว่ามีสัดส่วนสูงขึ้นเกือบทุกเมือง ทำให้จำนวนขยะสูงขึ้นตามไปด้วย เช่นที่ฮ่องกงมีจำนวนขยะต่อหัวประมาณ 4-5 กิโลกรัมต่อวันซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าที่นครนิวยอร์คเสียอีก ในขณะเดียวกันที่ประเทศอินเดียซึ่งคาดว่ามีสัดส่วนการบริโภคต่อหัวประมาณ 1 กิโลกรัมต่อวันนั้น ตามเขตนอกเมืองหรือชนบทกลับมีการบริโภคหรือปริมาณขยะต่อหัวเพียง 0.4-0.5 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น ธนาคารเอดีบีเปิดเผยว่า ในแต่ละวันมีขยะมูลฝอยเฉลี่ยราว 760,000 ตันเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ต่างๆในเอเชีย และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็นเกือบ 2 ล้านตันต่อวันภายในปี ค.ศ.2025 ซึ่งขณะนี้หลายเมืองในเอเชียต่างกำลังประสบปัญหาในการหาพื้นที่ใหม่เพื่อใช้รับมือกับขยะที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้น

ในขณะเดียวกัน ลักษณะของขยะก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จากสมัยก่อนที่มักจะเป็นขยะเปียกหรือเศษอาหาร ปัจจุบันกลายมาเป็นขยะพวกพลาสติกหรือขยะแห้งต่างๆ ขยะพวกนี้ทำให้การดูแลและการกำจัดยุ่งยากขึ้นกว่าเดิมและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ในขณะที่ขยะอิเลคทรอนิคส์หรือ e-waste เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนั้น ถึงกับทำให้บรรดาพนักงานเทศบาลต้องปวดหัวไปตามๆกันเลยทีเดียว

ศาสตราจารย์ Chettiyappan Visvanathan บอกว่าขยะอิเลคทรอนิคส์นั้นมักจะมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายหรือเป็นพิษบรรจุอยู่ด้วย ซึ่งทำให้ยากต่อการกำจัด ศาสตราจารย์แห่งสถาบัน MIT ผู้นี้บอกว่าระบบการกำจัดขยะแบบธรรมดาของเทศบาลทั่วไปนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กำจัดขยะอิเลคทรอนิคส์ซึ่งมักจะเป็นขยะอันตราย และขยะมีพิษทั้งหมดในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่จะมาจากขยะอิเลคทรอนิคส์นั่นเอง

ในการประชุมของเอดีบีครั้งล่าสุดที่กรุงมะนิลา ที่ประชุมเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆและภาคเอกชน ช่วยกันสนับสนุนให้มีการลดจำนวนขยะและนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งบางประเทศก็เริ่มปฏิบัติตามบ้างแล้ว ศาสตราจารย์ Chettiyappan ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่จะคิดค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะตามปริมาณขยะที่ผู้บริโภคทิ้ง ที่ญี่ปุ่น ศูนย์การค้าหลายแห่งไม่ให้ถุงพลาสติกฟรีแก่ลูกค้า และที่ไต้หวันนั้น มาตรการลดปริมาณขยะของรัฐบาลได้ผลเป็นที่น่าพอใจจนถึงกับต้องปิดเตาเผาขยะหลายเตา เพราะไม่มีขยะจะให้เผานั่นเอง

XS
SM
MD
LG