ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พลังงานความร้อนใต้ผิวโลก…พลังงานทางเลือกที่ถูกลืม


ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงพลังงานทางเลือกใหม่ ผู้คนมักจะนึกถึงเชื้อเพลิงเอทานอล เชื้อเพลิงชีวภาพและพลังลม แต่รายงานล่าสุดของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์หรือ MIT ระบุว่ายังมีพลังงานที่มีศักยภาพสูงอีกชนิดหนึ่งที่ยังไม่มีการนำมาใช้เป็นเรื่องเป็นราว และมักจะถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง นั่นคือพลังงานความร้อนใต้พื้นผิวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบรอบฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและที่อื่นๆที่มีภูเขาไฟ ซึ่งพลังงานความร้อนใต้ดินนี้เป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่ตลอดและนำมาใช้ได้ทุกเวลา ไม่เหมือนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

เมือง Boise เมืองหลวงของรัฐ Idaho เป็นเมืองที่ใช้ระบบทำความร้อนจากพลังงานใต้ดินเป็นแห่งแรกในสหรัฐ สายส่งความร้อนเส้นแรกที่วางในเมืองนี้ติดตั้งมานานกว่าร้อยปีแล้ว และหลังจากที่ถูกละเลยมานานหลายปี ระบบผลิตความร้อนจากใต้พิภพนี้ก็กลับมาได้รับความสนใจขึ้นมาใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนที่ต่ำกว่าพลังงานทางเลือกอื่นๆถึง 30% Kent Johnson วิศวกรด้านพลังงานใต้ธรณีแห่งเมือง Boise บอกว่าเหตุผลแรกที่คนหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานแบบนี้ เพราะราคาก๊าซธรรมชาติแพงขึ้นมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีความสนใจในพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น นอกจากเมือง Boise แล้ว มีอีกไม่กี่เมืองในอเมริกาที่ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพอยู่ ได้แก่เมือง Reno ในรัฐ Nevada และเมือง Susanville ในรัฐ California ในขณะที่เมือง Klamath Falls รัฐ Oregon ก็มีการติดตั้งขดลวดนำความร้อนจากพลังงานชนิดนี้ไว้ใต้บาทวิถีใจกลางเมืองเพื่อละลายหิมะและน้ำแข็ง

รายงานจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์หรือ MIT ลงความเห็นว่าโรงงานผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพซึ่งไร้มลพิษควรจะกลายมาเป็นส่วนสำคัญในแหล่งทรัพยากรด้านพลังงานของอเมริกา รายงานฉบับนี้ยังสนับสนุนวิธีการใหม่ในการนำพลังงานแบบนี้ขึ้นมาใช้ โดยการใช้เครื่องมือฉีดอัดน้ำจากพื้นผิวดินลึกลงไปยังบริเวณที่มีแหล่งหินความร้อนสูงใต้ดิน แล้วขุดบ่อใหม่ใกล้ๆกันเพื่อเจาะเอาน้ำที่ผ่านแหล่งความร้อนจนเดือดนั้นกลับขึ้นมาใช้ประโยชน์

คุณ Susan Petty หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญที่เขียนรายงานฉบับนี้บอกว่าไอน้ำร้อนที่ได้จากกรรมวิธีนี้จะสามารถนำไปปั่นกังหันน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป ก่อนที่จะหมุนเวียนฉีดอัดกลับไปใต้ดินเพื่อเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่อีกครั้ง เธอกล่าวว่าเราสามารถจัดการกับระบบการหมุนเวียนนี้ได้โดยที่ไม่ต้องสูญเสียน้ำนั้นไป และนั่นถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญเนื่องจากแหล่งหินที่มีความร้อนสูงจำนวนมากในสหรัฐนั้นอยู่ทางภาคตะวันตก ซึ่งพื้นที่บางส่วนแห้งแล้งและไม่มีน้ำให้ใช้มากนัก

นอกจากวิธีที่ต้องเจาะน้ำจากที่ลึกๆแบบนี้แล้ว ยังมีวิธีนำพลังงานความร้อนใต้ดินขึ้นมาใช้อีกวิธีหนึ่ง นั่นคือการเจาะเอาน้ำร้อนพอประมาณที่อาจอยู่ใต้เมืองต่างๆหรือแหล่งธุรกิจต่างๆนั่นเอง ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้ง่ายและกว้างขวางกว่า เช่น บริษัท Flora ในเมือง Boise เจาะพื้นดินลงไปประมาณ 200 เมตรเพื่อนำน้ำร้อนขึ้นมาใช้สำหรับเครื่องทำความร้อนในเรือนกระจกปลูกพืชและฟาร์มปลา คุณ Jayson Grazel เกษตรกรในเมือง Boise บอกว่าวิธีการนี้ช่วยให้ทางบริษัทประหยัดค่าทำความร้อนได้ถึง 75% เทียบกับการใช้พลังงานแบบอื่นๆ เขายังบอกอีกว่าคุณค่าของการใช้พลังงานแบบนี้คือการนำความร้อนจากใต้ดินขึ้นมาแล้วส่งกลับคืนไปที่เดิม เพียงแต่เย็นลงนิดหน่อย เป็นการหมุนเวียนคืนทรัพยากรกลับสู่โลก แล้วนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

รายงานของ MIT เกี่ยวกับพลังงานความร้อนใต้ธรณีนี้ เสนอให้ภาครัฐลงทุน 800 ล้านดอลลาร์ในช่วง 15 ปีข้างหน้า เพื่อเริ่มต้นการผลิตพลังงานชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม ในแผนเสนอของบประมาณปี ค.ศ.2008 ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไม่มีเงินงบประมาณสำหรับการสำรวจพลังงานใต้ดินและการทดลองขุดเจาะ หรือแม้แต่งบประมาณในการคิดค้นเทคโนโลยีต้นแบบรวมอยู่แต่อย่างใด ในขณะที่ประเทศอื่นๆเริ่มดำเนินการขุดเจาะความร้อนใต้ผิวโลกกันบ้างแล้ว เช่น ฝรั่งเศสซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและออสเตรเลียซึ่งเอกชนเข้ามารับภาระความเสี่ยงนี้

XS
SM
MD
LG