ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ภาวะชะงักงันของประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…อะไรคือสาเหตุ?


ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องหยุดชะงักลงเมื่อปีที่แล้ว หลังจากมีความคืบหน้าอย่างคงที่มาตลอดช่วง 5 ปีแรกของทศวรรษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปฏิวัติในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน ในขณะที่นักวิเคราะห์บอกว่ามีหนทางสู่ประชาธิปไตยหลายทางนอกเหนือจากการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ การเลือกตั้งก็ยังเป็นกระบวนการที่สำคัญ

Carl Thayer ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนิว เซาท์ เวลล์ส กล่าวว่าแม้ในช่วงก่อนการปฏิวัติดังกล่าว ความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยในแถบนี้ก็ยังมีไม่มากนัก รัฐบาลคอมมิวนิสต์ยังคงปกครองลาวและเวียดนาม พม่ายังปกครองด้วยรัฐบาลทหารมานานถึง 40 ปี และกัมพูชากลายมาเป็นประเทศที่มีพรรคการเมืองผูกขาดอำนาจเพียงพรรคเดียวกล่าวได้ว่า แทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยเกิดขึ้นเลย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความคาดหมายเพิ่มขึ้นมากมายเกี่ยวกับประชาธิปไตยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศจัดการเลือกตั้งสำเร็จและมีการเปลี่ยนรัฐบาลอย่างสงบเรียบร้อย นับได้ว่าเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่แต่ละประเทศต่างมีผู้ปกครองที่รวมอำนาจเบ็ดเสร็จมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศให้คำจำกัดความของประชาธิปไตยแตกต่างไปจากประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่น แม้สิงคโปร์และมาเลเซียจะมีการเลือกตั้ง แต่ทั้งสองประเทศก็ปกครองด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวมาตลอด 40 ปี ในขณะที่ต่างก็ควบคุมสื่อมวลชนและการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านอย่างเข้มงวด

นาย Anwar Ibrahim อดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้ความเห็นว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ต้องมีองค์ประกอบสำคัญหลายอย่างนอกเหนือจากการเลือกตั้ง เขาบอกว่า ก่อนอื่นรัฐบาลต้องเคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนรวมทั้งพวกชนกลุ่มน้อยและคนยากจน ประชาชนต้องสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ และการตัดสินใจต่างๆของรัฐบาลต้องโปร่งใส ระบบตุลาการต้องเป็นอิสระ สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพและสังคมต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมาย

ผู้คนมากมายต่างตื่นตระหนกหลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติในประเทศไทย เพราะกลัวว่าจะเป็นตัวอย่างให้รัฐบาลประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำพาระบอบประชาธิปไตยเดินถอยหลัง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยหลายคนให้ความเห็นว่า รัฐบาลของ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตรนั้นใช้การเลือกตั้งเป็นหนทางนำประเทศไปสู่ระบบการเมืองแบบพรรคเดียว และอดีตนายกรัฐมนตรีไทยผู้นี้ก็พยายามจะกำจัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อต่างๆ และพยายามดำเนินการควบคุมรัฐสภาเพื่อที่นโยบายของตนจะถูกตรวจสอบน้อยที่สุด

นายอนันต์ ปัญญารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตรใช้นโยบายประชานิยมเช่น การให้เงินแก่ชาวบ้านเพื่อสร้างฐานสนับสนุนพรรคของตน ทั้งหมดก็เพื่อลบล้างเสียงวิจารณ์จากบรรดาผู้สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และว่า พ.ต.ท ทักษิณสามารถอ้างได้ว่า “หากพวกคุณไม่ชอบผม ทำไมไม่เล่นตามกฎ คือคืนอำนาจให้แก่ประชาชนแล้วมาเลือกตั้งกันใหม่” แต่จริงๆแล้ว ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีอดีตนายกฯทักษิณคือ ไม่ควรและไม่สามารถที่จะตัดสินกันด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน

และในขณะที่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันสัญญาว่าจะรีบจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนสิ้นปีนี้ ศาสตราจารย์ Carl Thayer คิดว่าหลังจากนั้น ประชาธิปไตยในประเทศไทยน่าจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม ศาสตราจารย์ผู้นี้บอกว่า เมื่อมีการจัดเลือกตั้งและคืนอำนาจแก่ประชาชนไทย เราจะเห็นชนชั้นกลางกลับมาพร้อมกับความคิดที่จะไม่ยอมให้เกิดความผิดพลาดที่ปล่อยให้นายกรัฐมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเข้ามาทำลายระบบการเมืองได้อีก เพราะประชาชนจะเรียนรู้ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ Carl Thayerบอกว่าในที่สุดแล้ว ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลับมามีประชาธิปไตยมากกว่าเดิม และมีผู้นำประเทศที่มีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงต่อประชาชน

XS
SM
MD
LG