ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: สหรัฐฯ วางยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการทูตในเอเชียอย่างไร?


ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดนที่การประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อปี 2023
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดนที่การประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อปี 2023

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สหรัฐฯ สร้างสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียด้วยรูปแบบทวิภาคี แต่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เปิดมิติใหม่ ด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมของประเทศในภูมิภาค เพื่อสร้าง “รั้วลายสาน” ทางการทูต

“รั้วลายสาน” หรือ "lattice fence" เป็นการเปรียบเทียบว่าสหรัฐฯ ช่วยขยายเครือข่ายประเทศที่มีเเนวคิดคล้ายกัน มาประสานความสัมพันธ์ เพื่อสร้างระบบปกป้องผลประโยชน์ร่วม

โดยธรรมชาติ ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันและยากที่จะมีสนธิสัญญาร่วมที่ครอบคลุมหลายชาติ แบบเดียวกับสนธิสัญญาแอตเเลนติกเหนือ หรือนาโต้ในยุโรป

โดยบางประเทศในเอเชียอาจเป็นคู่แข่งขันหรือมีประวัติศาสตร์ที่บาดหมางกันด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มย่อย ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ "lattice fence" ยังเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ซับซ้อนกว่าระดับทวิภาคี ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศในเอเชียเเต่ละราย ซึ่งเป็นลักษณะของยุทธศาสตร์แบบเก่าที่เรียกว่า "hub and spokes" หรือ "ศูนย์รวมกับซี่ล้อ"

ภายใต้เเนวทางเดิม สหรัฐฯ เปรียบเหมือนมหาอำนาจแกนกลางและมีประเทศพันธมิตรในเอเชียแต่ละรายร่วมมือกับอเมริกาแต่ไม่ได้ร่วมมือระหว่างกันภายใต้กรอบพันธมิตรนี้

ตัวอย่างของการทูตแบบใหม่ เด่นชัดมากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ไบเดน เป็นเจ้าภาพการหารือระดับผู้นำที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน กับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นฟูมิโอะ คิชิดะ และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ในการประชุมสุดยอด 3 ฝ่ายที่ไม่เคยมีมาก่อน ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อบทบาทของจีนในภูมิภาค

สหรัฐฯ และญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนฟิลิปปินส์เพิ่ม เพื่อการปรับระบบกลาโหมให้ทันสมัย และจะเพิ่มการซ้อมรบร่วมกันในภูมิภาค โดย มีประเทศเข้าร่วมจำนวนมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อีกตัวอย่างหนึ่งเห็นได้จากที่ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมอย่างเเข็งขันในกิจกรรมที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำ เช่น ความร่วมมือด้านความมั่นคง Quad หรือ Quadrilateral Security Dialogue ที่เป็นกรอบพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการของอเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ผู้สังเกตการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชีย ยังพบว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งมีประวัติศาสตร์แห่งความไม่ลงรอยกันมานานจากการที่ญี่ปุ่นเคยบุกยึดเกาหลีใต้ ต่างร่วมซ้อมรบกับสหรัฐฯ

เมื่อปีที่เเล้วรัฐบาลวอชิงตัน โตเกียวและโซลเปิดตัวโครงการแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เรื่องการเตือนภัยขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่ยุทธศาสตร์ “รั้วลายสาน”ของสหรัฐฯ จะช่วยให้รัฐบาลวอชิงตันประสบความสำเร็จในการเเข่งขันทางการทูตกับจีน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สถาบันคลังสมอง ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เผยเเพร่รายงานประจำปีที่มีชื่อว่า State of Southeast Asia เพื่อสอบถามความเห็นตัวอย่างประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า “หากต้องเลือกระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเลือกใคร”

รายงานปีล่าสุด ชี้ว่า 50.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจีน และ 49.5% เลือกสหรัฐฯ ถือเป็นการพลิกขั้วครั้งเเรกตั้งเเต่สถาบันนี้เริ่มเสนอรายงานนี้เมื่อ 5 ปีก่อน

อดีตทูตนิวซีเเลนด์ ประจำเกาหลีใต้ ฟิลิป เทอร์เนอร์ กล่าวว่า สิ่งที่สหรัฐฯ พยายามริเริ่มด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเเข่งขันกับจีนในเอเชีย ภายใต้กรอบ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

เขากล่าวว่า "หลายประเทศในเอเชีย (รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีเเลนด์ )ได้ชี้ว่า ความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการสร้างพันธกิจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคบั่นทอนสถานะผู้นำที่สหรัฐฯอ้างในภูมิภาคนี้"

เทอร์เนอร์กล่าวด้วยว่า เเม้ประเทศต่าง ๆ จะกังวลต่อพฤติกรรมของจีน แต่ก็มีน้อยรายในเอเชียที่สนับสนุนความพยายามในการจะตีกรอบการขยายตัวของจีน

อดีตทูตผู้นี้บอกว่าหลายประเทศอยากเห็นสหรัฐฯ ปรับท่าต่อจีนจากการบังคับทางเศรษฐกิจมาสู่แนวทางที่ลดความขัดแย้งมากกว่า

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG