นักวิเคราะห์เชื่อว่า จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่อาจสามารถประสานงานผ่านศักยภาพทางอวกาศในการทำสงครามได้
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ากองทัพของจีน ภายใต้ชื่อ People’s Liberation Army สามารถนำเครื่องมือทางทหารไปติดตั้งนอกโลก หรือใช้ดาวเทียมสอดเเนมหาข้อมูลที่เกิดขึ้นบนโลก
ริชาร์ด บิตซิงเกอร์ แห่งสถาบัน S. Rajaratnam School of International Studies ที่สิงคโปร์ กล่าวว่าในที่สุดเเล้วจีนอาจจะสามารถระบุว่ามีเรือดำนำ้ของฝ่ายศัตรูอยู่ในทะเลได้ผ่านเทคโนโลยีอวกาศ
เขากล่าวว่าเป็นสิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนว่าอวกาศเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หนึ่งของกองทัพ และ “เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่กล่าวออกมาอย่างชัดเเจ้งในโครงการการปฏิรูปกองทัพ People’s Liberation Army” ของจีน
กองทัพอากาศจีนหรือ PLAAF (People’s Liberation Army Air Force) จะมีบทบาทในการช่วยเพิ่มศักยภาพทางอากาศ ดังที่จีนได้ออกรายงานเมื่อ 3 ปีก่อนเกี่ยวกับ “แผนกลาโหมแห่งชาติในยุคใหม่”
รายงานฉบับนี้ยังได้กล่าวถึงงานบูรณาการด้านกลาโหมของกองทัพอากาศและศักยภาพทางอวกาศ ที่ใช้ทั้งในการตั้งรับและจู่โจม
แอนดริว หยาง เลขาธิการใหญ่หน่วยงานวิจัยนโยบายของไต้หวันที่ชื่อ Chinese Council of Advanced Policy Studies กล่าวว่าอุปกรณ์ที่จีนติดตั้งนอกโลกอาจสามารถช่วยจีนปฏิบัติการโจมตีทางอากาศด้วยขีปนาวุธหลายชนิดด้วยกัน
สื่อต่างๆเช่น หนังสือพิมพ์ Financial Times และนิตยสาร Astronomy ได้รายงานถึงการทดสอบศักยภาพการโจมตีทางอากาศและทางอวกาศของจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ส่วนคอลลิน โกห์ ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งจากสถาบัน Institute of Defense and Strategic Studies ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ S. Rajaratnam School of International Studies กล่าวว่าจีนมีระบบดาวเทียมนำทางเพื่อการพาณิชย์ที่เรียกว่า BeiDou และทางการปักกิ่งพยายามป้องกันมิให้ระบบดังกล่าวถูกแทรกสัญญาณโดยฝ่ายตรงข้ามที่อาจท้าทายจีน
หากพิจารณาถึงความก้าวหน้าและเป้าหมายทางกลาโหมของจีน ในบริบทด้านภูมิรัฐศาสตร์ นักวิเคราะห์กล่าวว่าความสามารถทางการทหารด้านอวกาศเหล่านี้ น่าจะถูกนำมาใช้ ในประเด็นไต้หวัน ตลอดจนเรื่องข้อพิพาททางดินเเดนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก รวมถึงความท้าทายในน่านนำ้มหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกที่อยู่นอกเขตของจีนไปไม่ไกล
เกรกอรี โพลิง ผู้อำนวยการโครงการ Asia Maritime Transparency Initiative แห่งหน่วยงาน Center for Strategic and International Studies ที่กรุงวอชิงตันกล่าวว่า แนวคิดของจีนเรื่องน่านน้ำทางทะเลคือจีนเน้นการเเสดงศัยภาพทางทหารและกล้าถกเถียงฝ่ายตรงข้าม
เเนวทางดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งท้าทายประเทศในเอเชียที่มีข้อพิพาททางทะเลกับจีน ในเวลานี้ บริเวณทะเลจีนใต้ที่จีนเป็นคู่กรณีเรื่องอธิปไตย กับบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและเวียดนาม จีนได้เข้าไปสร้างที่จอดเครื่องบินทหารและระบบเรดาร์บนเกาะเเก่งต่างๆ
และในภาพใหญ่ระหว่างมหาอำนาจด้วยกัน ศาสตราจารย์อเล็กซานเดอร์ วูวิงจากสถาบัน Daniel K. Inouye Asia-Pacific Center for Security Studies ที่รัฐฮาวายของสหรัฐฯกล่าวว่าการเเข่งขันด้านอำนาจทางนาวี ได้เกิดขึ้นเเล้วระหว่างจีนเเละสหรัฐฯ โดยที่จีนมีจำนวนเรือมากกว่าอเมริกา และอาจเรียกได้ว่ามีขนาดกองทัพเรือใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้เเล้วด้วย
ริชาร์ด บิตซิงเกอร์ แห่ง S. Rajaratnam School of International Studies กล่าวเสริมว่า สำหรับการเเข่งขันเทคโนโลยีอวกาศทางกลาโหม จีนก็กำลังพยายามเป็นหนึ่งในสองมหาอำนาจใหญ่ในเวทีนี้ด้วยเช่นกัน